ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน

ความเชื่อ: โรคกระดูกพรุนเป็นโรคของคนแก่

ความจริง: อายุมากขึ้นอาจเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้มวลกระดูกลดลง และผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคกระดูกพรุนในสัดส่วนสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยๆจะเป็นโรคกระดูกพรุนไม่ได้  ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ เช่นการ ขาดวิตามินดี ขาดแคลเซียม ดื่มกาแฟมากเกินไป การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และยังพบโรคกระดูกพรุนในคนอายุน้อยๆที่ป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น โรคอดอาหารจนเกิดความผิดปกติในการกินจากการกลัวอ้วน (Anorexia nervosa) หรือ โรคที่มีปัญหาในการดูดซึมของระบบทางเดินอาหาร โรคที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาดหายไปเป็นระยะเวลานาน(โดยไม่ได้ท้อง) หรืออาจจะเกิดโรคกระดูกพรุนจากการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์  ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะบางตัว  ยารักษาโรคลมชักบางตัว  ยารักษาเบาหวานบางตัว ตลอดจน ยารักษาโรคมะเร็งหลายชนิด ก็มีผลให้เกิดกระดูกพรุนได้

ความเชื่อ: ถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนจะรู้ก็ต่อเมื่อกระดูกหัก

ความจริง: โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบ ไม่แสดงอาการ ไม่มีอาการปวด แต่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญตามมาคือกระดูกหัก ในบางครั้งกระดูกหักบางตำแหน่งก็อาจจะไม่มีอาการปวด เช่น กระดูกสันหลังหักยุบ ซึ่งก็อาจจะแค่รู้สึกไม่สุขสบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จนถึงอาจจะมีอาการปวดหลังมากๆได้  แต่ในบางครั้งถ้าเป็นกระดูกส่วนอื่นหัก เช่น กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ กระดูกส่วนของแขนขาอื่นๆ จะมีอาการปวดอย่างมาก และเกิดการพิการผิดรูปขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อที่สามารถป้องกันการเกิดกระดูกหักได้ก่อนที่จะเกิดขึ้น การประเมินปัจจัยเสี่ยง และการวัดความหนาแน่นกระดูก จึงเป็นวิธีที่จะวินิจฉัยโรคกระดุกพรุนได้ก่อนที่กระดูกหักจะเกิดขึ้น โดยทั่วๆไปควรตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกๆ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ เพศ ที่มาตรวจ และมวลกระดูกที่ตรวจวัดได้  โดยเฉพาะในผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนแล้วควรตรวจเป็นประจำทุกหนึ่งถึงสองปีซึ่งการตรวจมวลกระดูกนั้นทำได้ง่าย ไม่เจ็บตัวแต่อย่างใด โดยเครื่อง DXA (dual-energy x-ray absorptiometry) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

ความเชื่อ: เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่จะเป็นโรคกระดุกพรุน

ความจริง: จริงอยู่ว่าผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย ในคนที่เป็นโรคกระดูกพรุนทั้งหมดเป็นผู้หญิงเสียประมาณ 80% และอีก 20% เป็นผู้ชาย ในเพศหญิงพบว่าเริ่มเป็นโรคกระดูกพรุนได้ตั้งแต่อายุประมาณ 50-65 ปี และโอกาสเป็นจะมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อมีอายุมากขึ้น  ในเพศชายก็มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นเดียวกัน แต่มักจะเป็นในช่วงอายุที่มากกว่า หรือค่อนข้างช้ากว่าผู้หญิงประมาณ 10 ปี ผู้ชายส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นโรคกระดูกพรุนหลังอายุ 70 ปีไปแล้ว  นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม และผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ได้รับการรักษาด้วยยาบางชนิด จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมากขึ้นด้วย

ความเชื่อ: ถ้าได้ยารักษากระดูกพรุนอยู่แล้วก็ไม่ต้องกังวล

ความจริง: ยารักษากระดูกพรุนมีสองพวก พวกที่มีผลชะลอหรือยับยั้งสลายของมวลกระดูก กับพวกที่สามารถกระตุ้นการสร้างมวลกระดูกใหม่ได้ ทั้งสองพวกสามารถเพิ่มมวลกระดูก และลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักลงได้  อย่างไรก็ตามไม่สามารถลดความเสี่ยงของกระดูกหักลงเป็นศูนย์หรือป้องกันไม่ให้หักร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ เนื่องจากกระดูกหักเกี่ยวข้องกับแรงภายนอกกระดูกที่มากระทำด้วย ถ้าแรงมากพอก็ยังสามารถทำให้กระดูกหักได้  เพราะฉะนั้นหลังการเริ่มให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนแล้ว การติดตามดูแลผู้ป่วยเป็นระยะๆ การที่ผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ รวมทั้งการเรียนรู้วิธีการระมัดระวังป้องกันการล้ม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน  นอกจากนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนที่ได้รับยาแล้วเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับ แคลเซียม วิตามินดี และสารอาหารอย่างอื่น เช่น โปรตีน วิตามินซี วิตามินเค ที่เพียงพอด้วยเสมอ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการนำไปใช้เสริมสร้างกระดูก จึงควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้สูง และหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ การสูบบุหรี รวมทั้งต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกด้วย

ความเชื่อ: แคลเซียม จากแหล่งอาหาร หรือจากอาหารเสริมอันไหนดีกว่า

ความจริง: ในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนควรได้รับแคลเซียม อย่างเพียงพอเสมอ แต่หากคิดว่าการได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ การรับประทานแคลเซียมจากอาหารเสริมมีประโยชน์อย่างแน่นอน  ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถประเมินปริมาณแคลเซี่ยมที่มีอยู่ในอาหารที่เรารับประทานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จากการศึกษาที่ผ่านมา       พบว่าคนไทยรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซี่ยม ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว   เนื่องจากคนไทยไม่นิยมรับประทานนม และผลิตภัณฑ์ของนม  เริ่มต้นเราควรแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานนมและผลิตภัณฑ์ของนม  ในกรณีที่รับประทานนมไม่ได้ การให้ยาเม็ดเสริมแคลเซี่ยมก็จะมีความจำเป็น

ความเชื่อ: คนไทยไม่มีปัญหาเรื่องขาดวิตามินดี เพราะมีแดดแรง

ความจริง: แหล่งที่มาของวิตามินดีในคนเรามาจากการสร้างที่ผิวหนังเมื่อผิวหนังกระทบแสงแดดโดยตรง แหล่งวิตามินดีจากอาหารพบได้น้อยกว่า เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินดีสูง มักไม่ใช่อาหารที่คนไทยบริโภคประจำ เช่น น้ำมันตับปลา เนื้อปลาทะเลลึก เช่น ปลาแซลมอน  ปลาทูน่า และอาหารจำพวกเห็ดบางชนิด เนื่องจากประเทศไทยเรามีแดดแรงตลอดทั้งปี จึงเข้าใจผิดกันมานานแล้วว่าคนไทยไม่ขาดวิตามินดี  จากการศึกษาในช่วงหลังที่ผ่านมานี้ พบว่าคนไทยเราขาดวิตามินดีกว่า 60%  เป็นเพราะคนไทยในเมืองกรุงส่วนใหญ่หลบแดดหนีแดดอย่างมาก  อีกทั้งในชีวิตประจำวันของคนกรุงเดี๋ยวนี้ มักไม่ค่อยมีโอกาสโดนแดด เช่น อยู่ในห้องแอร์ แม้แต่การออกกำลังกายยังออกกำลังกายในร่ม มีการใช้ sunscreen ทาผิวหนัง ซึ่งทำให้รังสี UV ที่จะเป็นตัวไปกระตุ้นการสร้างวิตามินดี ไม่สามารถเข้าถึงผิวหนังส่วนที่สร้างได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการให้ยาเม็ดวิตามินดีเสริมให้เพียงพอจึงมีความจำเป็นในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน

ความเชื่อ: ถ้าได้รับยารักษากระดูกพรุนแล้วความหนาแน่นของมวลกระดูกไม่เพิ่มขึ้น แสดงว่ายาไม่มีประสิทธิภาพ ควรหยุดยา

ความจริง: การให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนสามารถเพิ่มมวลกระดูกได้ ไม่ว่าจะให้ยาต้านการสลายกระดูก หรือยากระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่  อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องได้รับยาอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอต่อเนื่อง ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้ยาอย่างไม่ถูกต้อง หรือขาดยาบ่อยๆ ประสิทธิภาพของยาก็ย่อมไม่ดี ไม่ได้ผลเท่าที่ควรหรืออาจจะไม่ได้ผล   อีกสิ่งหนึ่งก็คือการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาแต่ละตัวในแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย  อย่างไรก็ตามถ้าให้ยาแล้วมวลกระดูกไม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ลดลง ก็ถือว่ายามีประสิทธิภาพแล้ว   เราจะกล่าวว่ายาไม่ได้ผลก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่มวลกระดูกกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือ เกิดกระดูกหักขึ้นระหว่างที่ได้รับยาอยู่ เท่านั้น


ปรึกษาปัญหาด้านกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ ที่ ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 หรือ โทร 1719
- See more at: http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/health-tips/osteoporosis-myths-and-facts#sthash.vovzoSqL.dpuf

ความคิดเห็น

ตำแหน่งโฆษณา