เลิกอ้วน แต่ไม่ต้องเลิกอด

“แม้เรามีอายุบนบัตรประชาชนที่เท่ากัน แต่อายุจริงๆ ของร่างกายคนเรากลับไม่เท่ากัน ผันแปรไปตามระดับฮอร์โมนในเลือด หน้าบัตร 40 แต่อายุจริงเท่าไหร่?”
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ผู้อำนวยการ Bangkok Royal Life Anti-Aging Center โรงพยาบาลกรุงเทพ
เลิกอ้วน แต่ไม่ต้องเลิกอด

คุณหมอแอมป์-ตนุพล นายแพทย์ที่ได้รับความนิยมเบอร์ต้นๆ ของวงการในการให้คำปรึกษาเรื่องโรคอ้วนและลดน้ำหนักเพื่อการชะลอวัยห่างไกลโรค คือ “แม้เรามีอายุบนบัตรประชาชนที่เท่ากัน แต่อายุจริงๆ ของร่างกายคนเรากลับไม่เท่ากัน ผันแปรไปตามระดับฮอร์โมนในเลือด หน้าบัตร 40 แต่อายุจริงเท่าไหร่? ต้องเจาะอ่านค่าเคมีในเลือดมาตรวจวิเคราะห์ ผลฮอร์โมนอาจจะแค่ 30 ถือเป็นความหนุ่มสาวที่หลายคนปราถนา เพราะไม่ใช่แค่ร่างกายดูดี แต่ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีห่างไกลล็อตเตอรี่โรคร้ายชุดใหญ่ และปัญหาใกล้ตัวที่ทำให้เราแก่ โทรม ร่างกายทรุด อวัยวะพัง คือ ไขมันและน้ำหนักตัว ที่ผู้บงการรายใหญ่ คือตัวคุณเอง”

คำแนะนำสำหรับการมีสุขภาพที่ดี

               
                 หมอพบว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีความเชื่อว่า ฉันต้องพึ่งหมอ-พึ่งยา การมาหาหมอแล้วทานยาจะหายดี การตรวจหาค่าต่างๆ เช่น ค่าเบาหวาน ค่าน้ำตาล ไขมันในเลือดจะดีขึ้น ใช่ครับ ตราบใดที่คนไข้ยังทานยาตามปริมาณที่หมอให้ ค่าพวกนี้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ดีขึ้นแบบทรงๆ ตัว แตะเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่จริงๆ แล้วหมอกลับคิดว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการน่าเป็นห่วงกว่าเดิมเสียอีก เพราะถ้าหากยังพึ่งยาแล้วไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่พึ่งพาตัวเองก็ต้องทานยาไปตลอดชีวิต และคุณต้องไม่ลืมว่ายาแต่ละชนิดเป็นเคมีที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเองไม่ได้ เป็นสิ่งแปลกปลอมที่จำนะมาซึ่งผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น ยาความดันมีผลกดความร้สึกทางเพศ ยาลดไขมัน เมื่อทานสะสมไปนานๆ กล้ามเนื้อฝ่อ ตับอักเสบ ความจำสั้น กระดูกพรุน จะมีตามมาอีกหลายโรค ทำให้วงการการแพทย์ที่พัฒนาแล้วในต่างประเทศ จะเริ่มฮิตการหยุดโรคที่ไม่ใช่ยา แต่จะเน้นที่การปรับเปลี่ยนและสร้างเสริมทัศนคติการดำเนินชีวิตที่ตระหนักถึงการมีสุขภาพที่ดีของตัวผู้ป่วยเอง ด้วยการให้พวกเขามองเห็นเองและค่อยๆ ลงมือทำ ผมอยากสื่อให้ฟังอย่างชัดเจนว่า อยากสุขภาพดี เราต้องเริ่มจากมีทัศนคติที่ดีก่อน รักสุขภาพ ไม่มีใครรักสุขภาพเท่ากับตัวเรา การป้องกัน รู้เท่าทัน รู้ตัว คือทางออก” 
เลิกอ้วน แต่ไม่ต้องเลิกอด

โรคอ้วนเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยงโรคอ้วน

               
                 “เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โรคอ้วน คืออะไรกันแน่ โรคอ้วนเป็นอาการของการ ‘อ้วนลงพุง’ อ้วนลงพุงเป็นภาวะที่มีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมาก ไขมันนั้นแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ไขมันใต้ชั้นผิวหนังที่จะพบบริเวณใต้ผิวหนังเท่านั้น ลองหยิกพุงคุณดูได้นะครับ ส่วนไขมันอีกชนิดเป็นไขมันที่น่ากลัวและอันตรายมาก สะสมแทรกอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ และหัวใจ การจะตรวจระดับไขมันชนิดที่ 2 อย่างละเอียดนี้ต้องอาศัยการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การเอ็กซเรย์ หรือการทำ  Dexa Scan (Whole body) เป็นวิทยาการใหม่ที่ทำให้ผู้ตรวจทราบอย่างละเอียดว่าทั่วทั้งร่างกายคุณมีไขมันกระจายและแฝงอยู่ตามส่วนต่างๆ ในปริมาณเท่าไหร่ เช่น ตามหน้าท้อง สะโพก เอว ใต้ท้องแขน ต้นขา หรือแม้กระทั่งอวัยวะภายใน เป็นต้น การตรวจละเอียดแบบนี้จะทำให้เรารู้ว่า ตอนนี้เราตกเป็นกลุ่มเสี่ยงจากโรคร้าย หรือโรคที่มีความอ้วนเป็นสาเหตุอีกนับสิบโรคหรือยัง
                “หมออยากสรุปปรากฏการณ์เรื่องโรคอ้วนทั่วโลกให้ทราบสั้นๆ ว่า ก่อนหน้านี้ การแพทย์ทั้งโลกเคยมองความอ้วนว่า ไม่ใช่โรค เราจึงไม่ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนทันทีหรือว่าโดยตรง เราได้แต่เฝ้าระวัง และรอการรักษาโรคที่เกิดจากความอ้วน แต่ปัจจุบัน การมีไขมัน 2 ชนิดในร่างกายมากถือเป็นโรค เพราะจะปลุกโรคร้ายปลายทางหลายชนิดให้ตื่นขึ้น เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ และหลอดเลือดตีบตัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคที่เป็นภัยเงียบอย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”
                “โรคพวกนี้เป็นโรคร้ายแรงที่ไม่ติดต่อ แต่เป็นโรคที่เราสร้างขึ้นเอง เกิดจากพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เร่งรีบและละเลย ไม่เอาใจใส่เรื่องการรับประทานอาหาร ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ และมีความเครียดสะสมสูง ใครที่มี 4 เรื่องนี้สะสมเป็นแรมปี ทุกคนจะเริ่มมีสัญญาณเตือนที่อาการลงพุง และได้บัตรผ่านเข้าไปเสี่ยงกับโรคร้ายที่ผมกล่าวมาทันที”
เลิกอ้วน แต่ไม่ต้องเลิกอด


วิธีการที่ดีที่สุดในการลดความอ้วนมีอะไรบ้าง


                 “ผมอยากให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอ้วน เลิกความคิดว่า อยากลดต้องอด อยากลดต้องทนทรมาน ไม่ใช่เลย เริ่มง่ายๆ ที่การปรับปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หันมาควบคุมน้ำหนัก วิธีที่มีประสิทธิภาพมากๆ คือ การออกกำลังกายต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายที่หนักระดับปานกลาง 2 ชนิดกีฬาที่ทั้งโลกแนะนำคือ ว่ายน้ำและปั่นจักรยาน เพราะไม่มีการปะทะหรือกระแทกต่อกระดูก ควบคู่ไปกับการทำเวทเทรนนิ่ง เสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อช่วยระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
                “ข้อต่อมา คือ การดูแลปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ คุณต้องให้ความสำคัญกับปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ นั่นคือกุญแจที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ การลดความอ้วนด้วยการอดเป็นความคิดที่ผิด! จำง่ายๆ ว่า “หนักเช้า เบาเที่ยง เลี่ยงเย็น เว้นดึก” มื้อเช้าเป็นมือที่ทานได้อย่างราชา ทานได้มากที่สุดของวัน เพราะร่างกายพักผ่อนนอนหลับขาดอาหารมา 7 ชั่วโมง มื้อเที่ยงทานได้เป็รครึ่งหนึ่งของมื้อเช้า ส่วนมื้อเย็นไม่แนะนำให้อดแต่ควรเน้นผักและโปรตีน งดแป้งและผลไม้หวานๆ ทุกชนิด ไม่ทานหลัง 6 โมงเย็น เข้านอนตอน 4 – 5 ทุ่ม ในแต่ละวันให้จำกัดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ปฏิบัติได้ดังนี้ไปทีละวัน จากวันเป็นสัปดาห์ควบคู่กับการออกกำลังกาย พุงที่เคยมีก็จะค่อยๆ เล็กลง ไม่เพิ่มปริมาณไขมันสะสมในร่างกาย”
- See more at: http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/health-tips/stop-obesity#sthash.HOHJKsb8.dpuf

ความคิดเห็น

ตำแหน่งโฆษณา